กรดไหลย้อน ปัญหาร้อนอกของคนวัยทำงานที่กันมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โรคกรดไหลย้อน คือ โรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หมายถึง กรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น
2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง หมายถึง โรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด
อุบัติการณ์ของโรคกรดไหลย้อนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกค่อนข้างสูง เฉลี่ยประมาณร้อยละ 50-60 ส่วนในประเทศไทย พบว่าคนไทยวัยทำงานประสบปัญหาโรคกรดไหลย้อนกันมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ
1. คนไทยรับอิทธิพลของตะวันตกมากขึ้น การดำเนินชีวิตของแต่ละคนเปลี่ยนไป เหมือนกับคนตะวันตกมากขึ้น เช่น
– ทำงานเลิกดึก ทำให้รับประทานดึก พอรับประทานแล้วก็เข้านอนทันที ทำให้ความดันในช่องท้อเพิ่มมากขึ้น เกิดการไหลย้อนของกรดได้ง่ายขึ้น
– เครียดกับงานมากขึ้น เมื่อเครียด กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือหลอดอาหารทำงานได้น้อยลง และหลั่งกรดมากขึ้น มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้น
– ชนิดของอาหาร ปัจจุบันคนทั่วไป นิยมรับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด พิซซ่า หรืออาหารที่ปรุงด้วยการผัด และทอดกันมากขึ้น รวมทั้งนิยมดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลมกันมากขึ้น อ้วน ไม่ออกกำลังกาย
ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งเสริมให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนมากขึ้น
2. มีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งคือ Helicobacter pylori (H. pylori) ปัจจุบันเชื้อชนิดนี้มีบทบาทเกี่ยวกับแผลในกระเพาะอาหารมากขึ้น เชื้อนี้มีข้อดีคือ ช่วยปกป้องภาวะกรดไหลย้อน แต่ในปัจจุบัน มีการสั่งยาที่ทำลายเชื้อชนิดนี้กันมากขึ้น ในการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อเชื้อชนิดนี้ถูกทำลายไป ทำให้มีโอกาสเกิดโรคกรดไหลย้อนมากขึ้นด้วย
สาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อน
- กินอาหารเสร็จใหม่ๆ มีอาการอิ่ม หรือกินอาหารยังไม่ครบ 4 ชั่วโมงแล้วนอน
- เกิดจาก Hiatus hernia ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้นยื่นเข้าไปในกระบังลม
สูบบุหรี่
- ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่เป็นน้ำอัดลม
- รับประทานอาหารจำพวกที่เป็นของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสจัด
- กรดไหลย้อนมีได้หลายอาการ

อาการของโรคกรดไหลย้อนมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น
1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ (heartburn) บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอหรือแน่นคอ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ เจ็บคอ แสบคอ หรือปาก แสบลิ้นเรื้อรังโดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้
2. อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม เช่น เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน ไอ หรือรู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน กระแอมไอบ่อย อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา เจ็บหน้าอก เป็นโรคปอดอักเสบเป็นๆ หายๆ
3. อาการทางจมูกและหู เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ หรือปวดหู
- ‘กรดไหลย้อน’ ย้อนจากจุดไหน ไปจุดไหน ?
- ชื่อโรคที่บอกว่า ‘กรดไหลย้อน’ นั้น ไม่ได้ตั้งขึ้นมาลอยๆ แต่ยังมาจากอาการที่เกิดขึ้น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า gastroesophageal reflux disease: GERD โดยเป็นกรดที่ขึ้นในกระเพาะอาหารแล้วไหลย้อนกลับขึ้นไปที่บริเวณหลอดอาหาร เนื่องจากหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารนั้นทำงานผิดปกติ มีลักษณะที่คลายตัว หรือเปิดออกมากจนเกินไป เป็นเหตุให้กรด หรือของเหลวสามารถไหลจากกระเพาะอาหารขึ้นไปที่หลอดอาหารได้
แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นกรดไหลย้อน
เมื่อแพทย์สงสัยว่าท่านอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน นอกเหนือจากการซักประวัติแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และบริเวณท้องอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคกรดไหลย้อน และแพทย์อาจ
1. ทดลองให้ยาลดกรดชนิด proton pump inhibitor (PPI) ขนาดสูง (PPI Test) เช่น omeprazole, esomeprazole, rabeprazole, lansoprazole เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ แล้วสอบถามอาการหลักที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ หรืออาการที่ทำให้ผู้ป่วยรำคาญที่สุด ถ้าอาการดังกล่าว ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 อาจแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน
2. ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (Esophago-Gastro-Duodenoscopy) อาจเห็นการอักเสบอย่างรุนแรง และแผลในหลอดอาหารส่วนปลายเหนือกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากโรคกรดไหลย้อน แต่แพทย์ไม่ได้ส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้นในผู้ป่วยทุกราย
ผู้ป่วยรายใดควรได้รับการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น
– มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน (เช่น กลืนลำบาก น้ำหนักลด มีอาเจียนเป็นเลือด มีก้อนที่คลำได้ที่หน้าท้อง)
– มีปัญหาในการวินิจฉัย เช่น มีอาการแปลกๆ ที่อาจไม่เหมือนโรคกรดไหลย้อนทีเดียว
– มีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ เป็นระยะเวลานานมากกว่า 5 ปี
– ให้การรักษาโรคกรดไหลย้อน แล้วไม่ดีขึ้น
– ใช้ประเมินผู้ป่วย ก่อนได้รับการผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อน
ส่งตรวจวัดค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) ในหลอดอาหารและคอหอยส่วนล่าง (Ambulatory 24-Hour Double–Probe pH Monitoring) วิธีนี้ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน โดยตัววัดค่าความเป็นกรด ด่าง ของคอหอยส่วนล่าง มักจะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนประมาณ 2 เซนติเมตร (pharyngeal probe) ส่วนตัววัดค่าความเป็นกรด ด่างในหลอดอาหาร จะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างประมาณ 5 เซนติเมตร (esophageal probe) เมื่อค่าความเป็นกรด ด่าง ของ pharyngeal probe ต่ำกว่า 5 และค่าความเป็นกรด ด่าง จาก esophageal probe ต่ำกว่า 4 ระหว่างหรือในขณะที่มีกรดไหลย้อนขึ้นมาจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง และระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรด ด่าง ดังกล่าว นานกว่าปกติ บ่งบอกว่ามีโรคกรดไหลย้อน อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้ เป็นการตรวจที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกทรมาน หรือรำคาญ และต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง จึงมักใช้ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัยเท่านั้น หรือในงานวิจัย หรือช่วยยืนยันโรค ก่อนที่จะนำผู้ป่วยไปผ่าตัด
แนะนำข่าวสุขภาพ อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : กรมการแพทย์แผนไทย แนะนำ ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ห่างไกล 4 โรคฮิต พบบ่อยช่วงฤดูหนาว